10 มีนาคม 2553

เปิดกรุแผนที่โบราณในราชสำนักสยาม..ตามหารากเหง้าชนเผ่าไทย

"แผนที่โบราณ" ซึ่งเก็บงำความลับของบ้านเมือง "แผนที่โบราณ" ซึ่งแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต "แผนที่โบราณ" ซึ่งสะท้อนถึงความประณีตหลักแหลมของคนไทย ขณะนี้กำลังอวดโฉมภายใต้ชื่อนิทรรศการ "แผนที่โบราณในราชสำนักสยาม"

ท ี่มูลนิธิ เจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน และบริษัทสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชานุญาตให้นำแผนที่สำคัญ 5 ระวาง จากทั้งหมด 17 ระวาง จากห้องสมุดส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำมาจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึง 31 มีนาคม 2549 ที่ศูนย์แสดงศิลปะบ้านจิม ทอมป์สัน

แผนที่ขนาดใหญ่ทั้ง 5 ระวาง ถูกแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อหลัก ใน 2 ห้องการแสดง คือ การสงคราม และการค้าสำเภาระหว่างไทย-จีน ซึ่งทั้งหมดเป็นการวาดด้วยมือและลงสีบนผืนผ้าฝ้ายในรูปแบบศิลปะไทยโบราณ เป็นเส้นทางการเดินทัพระหว่างสงครามและเส้นทางการค้าในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325-2394) สันนิษฐานว่าวาดโดยช่างฝีมือชาวสยาม และอาจมีชาวจีนร่วมด้วยในบางแผนที่ แผนที่ทั้งหมดถูกค้นพบที่ตำหนักพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา ในพระบรมมหาราชวัง หรือเป็นที่รู้จักในนามตำหนักคลัง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2539 เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาให้กรมศิลปากรทำการบูรณะซ่อมแซม ให้กรมแผนที่ทหารจัดทำสำเนา 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไว้ใช้ทำการศึกษา หลังจากนั้นทรงพระกรุณาให้ ดร.สันทนีย์ ผาสุข ไปศึกษาวิจัยแผนที่โบราณ ซึ่งขณะนี้ค้นคว้าเสร็จสิ้นแล้ว 9 ระวาง จากทั้งสิ้น 17 ระวาง และโปรดเกล้าฯ ให้เผยแพร่งานวิจัยโดยมอบสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์จัดพิมพ์ในชื่อหนังสือว่า Royal Siamese Maps - War and Trade in Nineteenth Century Thailand โดยมีผู้แต่งคือ ดร.สันทนีย์ และศาสตราจารย์ฟิลิปส์ สต็อต ต่อมาผู้วิจัยและ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ให้นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการและสาธารณชนได้ชื่นชมในความสามารถของบรรพบุรุษไทย และเป็นอีกทางที่จะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมหรือความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และ สร้างสรรค์จากนักวิชาการและผู้รู้ทั้งหลายที่อาจจะนำมาปรับปรุง เพิ่มเติมงานวิจัยที่จะทำต่อไปอีกได้

ม.ร.ว.นริศรา เผยรายละเอียดของแผนที่ที่นำมาจัดแสดงว่า ในส่วนหัวข้อยุทธศาสตร์ได้เลือกแผนที่มา 3 ระวาง ได้แก่ "แผนที่เมืองทวาย" แผนที่ที่ใหญ่ที่สุด มีขนาดถึง 517x388 เมตร และอาจกล่าวได้ว่าสวยที่สุดใน 17 ระวาง ที่เรียงไล่สถานที่ตั้งแต่ เขตแดนไทยด้านตะวันตก โดยเฉพาะ จ.กาญจนบุรี ไปจรดอ่าวเมาะตะมะ ของพม่า "แผนที่ผังเมืองไทรบุรี" แสดงอาณาบริเวณ "รัฐเคดาห์" ประเทศมาเลเซีย สมัยตกเป็นเมืองขึ้นของไทย "แผนที่เขมรในนี้" แสดงพื้นที่กัมพูชาส่วนบน คือพระตะบอง เสียมราฐและศรีโสภณในยุคที่เป็นเมืองขึ้นของไทยเช่นกัน รายละเอียดที่ปรากฏบนแผนที่หัวข้อนี้ นอกจากเส้นทางการเดินทางไปรบ สภาพทางภูมิศาสตร์ ภูเขาแม่น้ำ ต้นไม้ ศาสนสถานและแหล่งโบราณคดีก็ได้วาดไว้ด้วย

ส่วนหัวข้อที่สองคือการค้าสำเภาระหว่างไทย-จีน มีด้วยกัน 2 ระวาง คือ "แผนที่เมืองจีน" แสดงเส้นทางเดินเรือตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เลียบอ่าวไทย จรดมาเลเซียตอนใต้ ชายฝั่งกัมพูชา แหลมญวน เวียดนาม จีน ไปจนถึง ญี่ปุ่น เกาหลี ความยาวแผนที่ถึง 4 เมตร และ "แผนที่เมืองกวางตุ้ง" บ่งบอกความสำคัญของการค้าไทย-จีน การค้าสำเภา ที่เห็นเมืองกวางตุ้ง เกาะมาเก๊า

เป็นที่น่าสนใจว่าในจำนวน 17 ระวางนี้ มีแผนที่ 3 ระวาง ที่ถูกวาดสำเนาขนาบขึ้นมาอย่างคล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างทางด้านรายละเอียด ช่วยให้การศึกษาแผนที่โบราณคืบหน้าไปอย่างน่าสนใจ แสดงคุณลักษณะความรอบคอบของคนไทยเราด้วย เท่าที่ผ่านมา กล่าวกันว่าสำหรับในภูมิภาคที่อากาศร้อน อาทิเช่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลทางด้านแผนที่ที่เจ้าของถิ่นทำขึ้นหรือวาดขึ้นมักไม่ค่อยหลงเหลือหลัก ฐานให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม ทั้งนี้ สันนิษฐานว่าสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสภาพของภูมิอากาศที่ร้อนและชื้นในภ ูมิภาคนี้ แผนที่ที่เห็นส่วนใหญ่จึงเป็นแผนที่ของชาวต่างชาติที่เดินเรือเพื่อหาแหล่งส ินค้าและอาณานิคมที่มักจะวาดแสดงข้อมูลเฉพาะบริเวณพื้นที่ริมทะเลและมหาสมุท รเท่านั้น การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มาก

"แผนที่ทั้งหมดมีความสวยเหลือเกิน จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดงานครั้งนี้ พระองค์ท่านทรงพระเมตตาและเต็มพระทัยให้มาจัดแสดง แต่เนื่องด้วยสถานที่ไม่สามารถแสดงได้หมด จึงต้องมีการเลือกนำมาแสดง ชื่อที่เรียกแผนที่นี้ไม่ได้ตั้งขึ้นเอง มีการเขียนระบุไว้ที่ด้านหลังทุกระวางเมื่อค้นพบ ตัวอักษรบนแผนที่เขียนเป็นภาษาไทยหมด ยกเว้นแผนที่เมืองจีน ที่บอกมาตรวัดภาษาไทยโบราณแต่มีภาษาจีนกำกับ" ม.ร.ว.นริศรา กล่าว

ด้าน ดร.สันทนีย์ ผู้ทำการวิจัยแผนที่โบราณนี้กล่าวว่า เธอได้ศึกษาแผนที่ที่ใหญ่ที่สุดอย่างเมืองทวายอย่างละเอียด ถึงขนาดลงไปสำรวจพื้นที่จริงมาแล้ว โดยได้ใช้เครื่องมือ GPS และแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 และ 1:250,000 พร้อมขอคณะสำรวจของกรมแผนที่ทหารร่วมทำการสืบค้นด้วย และได้ค้นพบความน่าทึ่งยิ่งนักจากช่างฝีมือแผนที่โบราณนี้

"เราไปสำรวจที่เมืองกาญจน์ ตามรอยเส้นทางเดินทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อคราวเสด็จไปรบทวายผ่านวังปอ และพบว่า วังปอคือ เมืองซินบ่าในปัจจุบันของพม่า และเส้นทางเขาสูงที่ยากลำบากที่บันทึกไว้ในพงศาวดารคือ บริเวณบ้านอีต่อง อ.ทองผาภูมิ ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่า คุณสมบัติของแผนที่ระวางนี้คงทิศทางมาก สภาพภูมิศาสตร์ที่วาดบนแผนที่ เช่น รูปร่างของภูเขาก็มีจริง และปัจจุบันก็ยังอยู่ แลนมาร์คต่างๆ ในแผนที่ก็มีหลายที่ที่เราคุ้นเคยอย่างเขาเม็ง เขาขนไก่ และยังมีการพบเจดีย์ทรงมอญพร้อมสระบัวเล็กๆ ชื่อพระเจดีย์โบอ่อง ปัจจุบันก็ยังอยู่ที่ตอนบนเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลมเดิม) พร้อมด้วยการพบสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีในแผนที่กรมทหารมาก่อน อย่างสระสี่มุม ในบริเวณอำเภอไทรโยค" ดร.สันทนีย์ กล่าว

ขณะที่ ดร.เฮนรี นักวิจัยที่ทำการค้นคว้าวรรณคดีไทย ให้มุมมองด้านศิลปะเสริมว่า แผนที่โบราณเมืองทวายและเมืองกวางตุ้ง มีรายละเอียดเหมือนในสมุดข่อย ซึ่งคลับคล้ายฝีมือของจิตรกรไทยโบราณ ที่มักนิยมเขียนพืช สัตว์ ต่างๆ อีกทั้งวิธีเขียนน้ำก็ใช้สไตล์การเขียนแบบศิลปะไทยโบราณ ทั้งนี้ แผนที่เมืองจีนเมื่อนำมาเทียบกับแผนที่ในประเทศจีนยุคดึกดำบรรพ์แล้ว พบว่ามีอิทธิพลศิลปะจีนสูงมาก เป็นไปได้ว่าอาจเป็นฝีมือช่างชาวจีน

การค้นพบครั้งนี้ จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ยังมีจุดหมายปลายทางอันยิ่งใหญ่รออยู่เบื้องหน้า


ที่มา คมชัดลึก ฉบับ วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

1 ความคิดเห็น:

  1. หาดูได้ที่ไหนครับ? กรุณาแนะนำด้วย จาก นพดลnopdol1733@gmail.com

    ตอบลบ