14 กุมภาพันธ์ 2553

กรมทำแผนที่

หลังจากที่เสด็จประพาสรอบแหลมมลายู ชวา และอินเดีย ใน พ.ศ. 2416 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำ นายเฮนรี่ อลาบาสเตอร์ ซึ่งเคยทำหน้าที่รองกงศุลอังกฤษในเมืองไทยมาก่อนนั้น กลับเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ด้วย


นายเฮนรี่ อลาบาสเตอร์ ได้กราบบังคมถวายคำแนะนำในการทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยวิชาการสมัยใหม่หลาpสาขา รวมทั้งวิชาการสำรวจและทำแผนที่ซึ่งทรงเห็นว่ามีประโยชน์มาก ดังนั้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทำแผนที่ทดลองขึ้นใน พ.ศ. 2418 มีนายเฮนรี่ อลาบาสเตอร์ นั้นเองเป็นหัวหน้า กัปตันลอฟตัสเป็นผู้ช่วย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอีก 4 นาย ได้แก่ ม.ร.ว. แดง เทวาธิราช นายทัด ศิริสัมพันธ์ นายสุด และ ม.ร.ว. เฉลิม เริ่มสำรวจทำแผนที่กรุงเทพฯ เพื่อตัดถนนเจริญกรุงและถนนอื่นๆ อีกหลายสาย ต่อจากนั้นก็ได้ทำแผนที่วางสายโทรเลขไปยังพระตะบอง (ม.ปาวี ได้ร่วมไปกับคณะนี้ด้วย) และแผนที่บริเวณปากอ่าวสยาม เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือและเป็นแนวทางการป้องกันฝั่งทะเลเนื่องจากเกรงว่าอาจมีการรุกรานจากต่างประเทศ

ครั้น พ.ศ. 2423 รัฐบาลอังกฤษ ได้ขออนุญาตรัฐบาลสยาม เพื่อให้กองทำแผนที่ กรมแผนที่แห่งอินเดีย ซึ่งมีกัปตัน เอช.ฮิล เป็นหัวหน้า และ นายเจมส์ เอฟ.แมคคาร์ธี เป็นผู้ช่วย เดินทางผ่านเข้ามาในประเทศสยาม เพื่อดำเนินการวางโครงข่ายสามเหลี่ยมต่อเนื่องจากประเทศอินเดีย ผ่านพม่า เข้าเขตประเทศสยามทางจังหวัดราชบุรี เพื่อเข้าบรรจบกับแผนที่ทางทะเลที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งขอสร้างหมุดหลักฐานทางแผนที่ที่ภูเขาทอง และที่พระปฐมเจดีย์ เพื่อให้เป็นจุดตรวจสอบด้วย ครั้งนั้นข้าราชการไทยพากันหวั่นวิตกเป็นอันมาก เรื่องจากได้สังเกตุว่า ประเทศล่าอาณานิคมมักขอเข้าสำรวจก่อน แล้วจึงถือโอกาสเข้ายึกครองในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาดูโดยรอบคอบแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯ อนุโลมตามคำแนะนำของ
นายอลาบาสเตอร์ ที่ให้ยินยอมตามคำขอของรัฐบาลอังกฤษ ทั้งทรงเห็นชอบด้วยกับการที่จะเจรจาทาบทามตัวพนักงานทำแผนที่อังกฤษเข้ามารับราชการเพื่อเป็นการวางรากฐานการทำแผนที่ของไทยด้วย ผลที่สุด ปรากฏว่า นายเจมส์ เอฟ. แมคคาร์ธี ตกลงยินยอมเข้ารับราชการราชการสยาม นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2424 โดยสังกัดฝ่ายพระกลาโหมซึ่งมีหน้าที่บัญชาการหัวเมืองและทหารฝ่ายใต้ในขณะนั้น(ตั้งแต่มณฑลกรุงเทพฯลงไปคู่มหาดไทย ซึ่งดูแลควบคุมบัญชาการทหารในมณฑลฝ่ายเหนือ) แต่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงคือ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร(กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก

เนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องใช้แผนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งกองทำแผนที่เพียงกองเดียวไม่สามารถรับภารกิจทั้งสิ้นได้ พระองค์เจ้าดิศวรกุมารจึงทรงได้รับพระราชโองการให้ตรัวเรียก นายแมคคาร์ธีมาปรึกษาและร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนฝึกสอนชาวสยามให้ทำแผนที่ขึ้นในระยะปลายปีพ.ศ. 2425 โดยเกณฑ์เอานายทหารรักษาพระองค์ 30 นายเข้าเป็นนักเรียนรุ่นแรก นายแมคคาร์ธีเข้ารับหน้าที่เป็นครูใหญ่ มีนายเฮนรี่ นิโกเล เป็นครูรอง ทำการสอนภาคทฤษฏีที่ตึกแถวกองทหารมหาดเล็ก ข้างประตูพิมานไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง และนำนักเรียกออกฝึกทำแผนที่ทั้งในกรุงเทพฯ และมณฑลอื่นๆ โรงเรียนแผนที่ดำเนินการมาราวสามปี ได้จำนวนผู้สำเร็จการศึกษามากพอที่จะจัดตั้งหน่วยราชการขึ้นได้ จึงได้มีพระราชโองการแยกเหล่านักสำรวจออกจากสังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ตั้งขึ้นเป็น กรมทำแผนที่ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2428 (ตรงกับวันพฤหัสบดี แรมเก้าค่ำ ปีระกา สัปตศก จ.ศ. 1247) นายแมคคาร์ธี ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ เป็น ร้อยเอก พระภูวดล(รับพระราชทานสัญญาบัตร เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2428) นั้นได้รับตำแหน่งเป็นเจ้ากรม ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระองค์เจ้าดิศวรกุมารเป็นผู้ดูแลอีกชั้นหนึ่ง

ที่มา วารสารแผนที่ ฉบับที่ ๑ ปีที่ ๓๒ (กรกฏาคม- กันยายน ๒๕๓๒)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น