22 กุมภาพันธ์ 2553

ฮับเบิลเผยโฉมพลูโต

ดาวพลูโต ดาวเคราะห์แคระที่อยู่ห่างไกล เคยถูกจัดเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์เก้าดวงของระบบสุริยะ ปัจจุบันก็ยังเป็นดาวเคราะห์แคระที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด แต่ด้วยระยะทางที่ไกลแสนไกล ทำให้นักดาราศาสตร์รู้จักดาวพลูโตน้อยมาก ภาพถ่ายของดาวพลูโตที่ดีที่สุดยังมีขนาดเพียงไม่กี่พิกเซลเท่านั้น
ล่าสุดนาซาได้เผยภาพถ่ายดาวพลูโตที่มีรายละเอียดมากที่สุดเท่าที่เคยมีการถ่ายมา ภาพชุดนี้ได้แสดงถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ดาวพลูโตมีสีแดงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซีกเหนือของดาวก็สว่างกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงนี้คาดว่าน่าจะมาจากการที่น้ำแข็งบนพื้นผิวด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ละลายไปแล้วไปจับตัวแข็งกันอีกที่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของดาวพลูโตที่มีคาบยาวนานถึง 248 ปีของโลก
เมื่อเปรียบเทียบภาพที่ได้จากกล้องฮับเบิลที่ถ่ายในปี 2537 กับภาพที่ถ่ายในปี 2545-2546 นักดาราศาสตร์พบว่าพื้นผิวบริเวณขั้วเหนือของดาวพลูโตสว่างขึ้น ส่วนซีกใต้ของดาวกลับดูคล้ำลง
ภาพจากฮับเบิลยืนยันว่าดาวพลูโตเป็นดินแดนแห่งความแปรเปลี่ยน ไม่ใช่เพียงแค่ก้อนหินปนน้ำแข็งธรรมดา บรรยากาศที่นี่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ฤดูกาลบนดาวพลูโตก็ต่างจากของโลกที่ขับเคลื่อนโดยความเอียงของแกนโลกเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับดาวพลูโต ความเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเป็นผลจากความรีของวงโคจรในระดับที่มากพอ ๆ กับความเอียงของแกนหมุน ความรีมากของวงโคจรยังทำให้ฤดูกาลของพลูโตไม่สมมาตรอย่างโลก ช่วงเปลี่ยนจากฤดูใบไม้ผลิไปเป็นฤดูร้อนของซีกเหนือเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะดาวพลูโตในช่วงนั้นเคลื่อนที่เร็วกว่าช่วงอื่นเนื่องจากอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่ามาก
การสำรวจจากภาคพื้นดินในช่วงปี 2531-2545 แสดงว่ามวลของบรรยากาศในขณะนั้นมีมากกว่าปัจจุบันถึงสองเท่า สาเหตุอาจเกิดจากการที่ไนโตรเจนแข็งได้รับความร้อนแล้วหลอมละลาย ภาพใหม่ที่ได้จากฮับเบิลช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจถึงลมฟ้าอากาศของพลูโตขึ้นเป็นอย่างมาก
แม้ภาพจากฮับเบิลหยาบเกินกว่าจะมองออกถึงสภาพทางธรณีวิทยาบนดาวพลูโต แต่ในแง่ของสีและความสว่าง ฮับเบิลได้แสดงถึงดินแดนแห่งสีสันที่มีตั้งแต่สีขาว ส้มคล้ำ และพื้นที่สีดำสนิท สีโดยรวมของดาวพลูโตคาดว่าเป็นผลจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ทำให้โมเลกุลมีเทนบนพื้นผิวแตกออก ทิ้งไว้เพียงส่วนตกค้างจำพวกคาร์บอนสีแดงและดำ
ภาพดาวพลูโตชุดนี้ของฮับเบิลจะเป็นภาพที่คมที่สุดไปอีกหลายปี จนกระทั่งยานนิวเฮอไรซอนส์ของนาซาไปถึงดาวพลูโตในปี 2558
ภาพจากฮับเบิลชุดนี้จะมีส่วนช่วยในภารกิจของยานนิวเฮอไรซอนส์อีกด้วย นักวิทยาศาสตร์ของนิวเฮอไรซอนส์ใช้ภาพจากฮับเบิลเพื่อคำนวณหาระยะเวลาเปิดหน้ากล้องสำหรับการถ่ายภาพดาวพลูโตให้แม่นยำยิ่งขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการถ่ายภาพให้ได้รายละเอียดดีที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากยานนิวเฮอไรซอนจะพุ่งเฉียดดาวพลูโตอย่างรวดเร็ว ยานนิวเฮอไรซอนส์จึงไม่มีเวลาให้ลองผิดลองถูก ต้องคำนวณเวลาไว้ให้ดีล่วงหน้า
นอกจากนี้ภารกิจที่เร่งรีบอย่างมากของนิวเฮอไรซอนส์ทำให้ยานจะถ่ายภาพละเอียดของดาวเคราะห์แคระดวงนี้ได้เพียงซีกเดียวเท่านั้น นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับจุดสว่างจุดหนึ่งบนพลูโตที่คาดว่าเป็นบริเวณที่มีคาร์บอนไดออกไซด์แข็งปกคลุมหนาแน่นเป็นพิเศษ ซึ่งจุดนี้ก็ปรากฏในภาพที่ถ่ายโดยฮับเบิลคราวนี้ด้วย

ที่มา:
•Pluto's white, dark-orange, and charcoal-black terrain captured by the Hubble Space Telescope - astronomy.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น